หลักทั่วไป มาตรา 1-14

By | 9 กันยายน 2019

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บรรพ 1 หลักทั่วไป

ข้อความเบื้องต้น

มาตรา 1 กฎหมายนี้ให้เรียกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 2 ให้ใช้ประมวลกฎหมายนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมกราคม พระพุทธศักราช 2468 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ตั้งแต่วันที่ใช้ประมวลกฎหมายนี้สืบไป ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายนี้

บรรพ 1 หลักทั่วไป ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

มาตรา 4 กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบท บัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัย คดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งและถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วยให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดีในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต

มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี

อัตราตามวรรคหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปีให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก กับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์

มาตรา 8 คำว่า เหตุสุดวิสัย หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดีจะให้ผลพิบัติก็ดีเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา 9 เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือบุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเองแต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อหากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ

ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงไดตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นซึ่งทำลงในเอกสาร ที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 10 เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล

มาตรา 11 ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น

มาตรา 12 ในกรณีที่จำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ ทั้งตัวอักษรและตัวเลขถ้าตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกัน และมิอาจ หยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่ เป็นตัวอักษรเป็นประมาณ

มาตรา 13 ถ้าจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้เป็นตัวอักษรหลายแห่ง หรือเป็นตัวเลขหลายแห่ง แต่ที่แสดงไว้หลาย แห่งนั้นไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ

มาตรา 14 ในกรณีที่เอกสารทำขึ้นไว้หลายภาษาไม่ว่าจะเป็นฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับก็ตามโดยมีภาษาไทยด้วย ถ้าข้อความ ในหลายภาษานั้นแตกต่างกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณี ได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับให้ถือตามภาษาไทย