ส่วนที่ 2 ความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียม มาตรา 161-169/3

By | 15 มกราคม 2023

ส่วนที่ 2 ความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียม

 

มาตรา 161 ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี

คดีที่ไม่มีข้อพิพาทให้ฝ่ายเริ่มคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียม

มาตรา 162 บุคคลที่เป็นโจทก์ร่วมกันหรือจำเลยร่วมกันนั้น หาต้องรับผิดร่วมกันในค่าฤชาธรรมเนียมไม่ หากต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมหรือลูกหนี้ร่วม หรือศาลได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา 163 ถ้าคดีได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยการตกลงหรือการประนีประนอมยอมความหรืออนุญาโตตุลาการ คู่ความแต่ละฝ่ายย่อมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาของตน เว้นแต่คู่ความจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 164 ในกรณีที่วางเงินต่อศาลตามมาตรา 135, 136 นั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมแห่งจำนวนเงินที่วางนั้นอันเกิดขึ้นภายหลัง

ถ้าโจทก์ยอมรับเงินที่วางต่อศาลเป็นการพอใจเต็มตามที่เรียกร้องแล้ว จำเลยต้องเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม

ถ้าโจทก์ยอมรับเงินที่วางต่อศาลนั้นเป็นการพอใจเพียงส่วนหนึ่งแห่งจำนวนเงินที่เรียกร้อง และดำเนินคดีต่อไป จำเลยต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะได้พิพากษาให้โจทก์แพ้คดี ในกรณีเช่นนี้โจทก์ต้องเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้นอันเกิดแต่การที่ตนไม่ยอมรับเงินที่วางต่อศาลเป็นการพอใจตามที่เรียกร้อง

มาตรา 165 ในกรณีที่มีการชำระหนี้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 137 ถ้าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้นั้นเป็นการพอใจเต็มตามที่เรียกร้องแล้ว จำเลยต้องเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ถ้าโจทก์ไม่พอใจในการชำระหนี้เช่นว่านั้น และดำเนินคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ถ้าศาลเห็นว่าการชำระหนี้นั้นเป็นการพอใจเต็มตามที่โจทก์เรียกร้องแล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้นอันเกิดแต่การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้นั้น โจทก์ต้องเป็นผู้รับผิด

มาตรา 166 คู่ความฝ่ายใดทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ได้ดำเนินไปโดยไม่จำเป็น หรือมีลักษณะประวิงคดี หรือที่ต้องดำเนินไปเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คู่ความฝ่ายนั้นต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนั้น โดยมิพักคำนึงว่าคู่ความฝ่ายนั้นจักได้ชนะคดีหรือไม่

มาตรา 167 คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกสารบบความ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเพื่อชี้ขาดตัดสินคดีใด ศาลได้มีคำสั่งอย่างใดในระหว่างการพิจารณา ศาลจะมีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับกระบวนพิจารณาที่เสร็จไปในคำสั่งฉบับนั้น หรือในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีก็ได้แล้วแต่จะเลือก

ในกรณีที่มีข้อพิพาทในเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นในคดี ให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับข้อพิพาทเช่นว่านี้ในคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทนั้น

ในกรณีที่มีการพิจารณาใหม่ ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับการพิจารณาครั้งแรก และการพิจารณาใหม่ในคำพิพากษาหรือคำสั่งได้

มาตรา 168 ในกรณีคู่ความอาจอุทธรณ์ หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้นั้น ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว เว้นแต่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นจะได้ยกเหตุว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย

มาตรา 169 เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแล้ว ให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมชั้นต้นทำบัญชีแสดงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปโดยลำดับ และจำนวนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายจะต้องรับผิดตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจขอสำเนาบัญชีเช่นว่านั้นได้

มาตรา 169/1 ถ้าบุคคลซึ่งต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมค้างชำระค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลก็ดี หรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดี หรือต่อบุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ดี ศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบุคคลเช่นว่านั้นอาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลนั้นเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบุคคลที่มีสิทธิได้รับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น แล้วแต่กรณี เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีทั้งปวง แต่หากยังมีเงินที่ได้จากการบังคับคดีคงเหลือภายหลังชำระให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ ให้หักค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นดังกล่าวไว้จากเงินนั้น

มาตรา 169/2 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 169/3 ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โดยให้หักออกจากเงินที่ได้จากการยึด อายัด ขาย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจากเงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางไว้

ในกรณีที่มีการบังคับคดีแก่ผู้ประกันในศาล ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีในส่วนนั้นให้หักออกจากเงินที่ได้จากการบังคับคดีตามสัญญาประกัน

ในกรณีที่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมหรือมรดกให้เจ้าของรวมหรือทายาทผู้ได้รับส่วนแบ่งทุกคนเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยให้หักออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือทรัพย์มรดกนั้น

ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 292 (1) และ (5) ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี

มาตรา 169/3 บุคคลใดทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีส่วนใดโดยไม่จำเป็นหรือมีลักษณะประวิงการบังคับคดี หรือที่ต้องดำเนินไปเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเพราะบังคับคดีไปโดยไม่สุจริตก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง ผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลเช่นว่านั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด