ลักษณะ 6 คำพิพากษาและคำสั่ง หมวด 1 หลักทั่วไปว่าด้วยการชี้ขาดตัดสินคดี มาตรา131-139

By | 15 มกราคม 2023

ลักษณะ 6 คำพิพากษาและคำสั่ง

หมวด 1 หลักทั่วไปว่าด้วยการชี้ขาดตัดสินคดี

 

มาตรา 131 คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

(1) ในเรื่องคำขอซึ่งคู่ความยื่นในระหว่างการพิจารณาคดีนั้น โดยทำเป็นคำร้องหรือขอด้วยวาจาก็ดี ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือยกเสียซึ่งคำขอเช่นว่านั้น โดยทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าศาลมีคำสั่งด้วยวาจาให้ศาลจดคำสั่งนั้นไว้ในรายงานพิสดาร

(2) ในเรื่องประเด็นแห่งคดี ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้

มาตรา 132 ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร

(1) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้อง หรือไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 174 มาตรา 175 และมาตรา 193 ทวิ

(2) เมื่อโจทก์ไม่หาประกันมาให้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 323 หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายขาดนัดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 198 มาตรา 200 และมาตรา 201

(3) ถ้าความมรณะของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังให้คดีนั้นไม่มีประโยชน์ต่อไป หรือถ้าไม่มีผู้ใดเข้ามาแทนที่คู่ความฝ่ายที่มรณะดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42

(4) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันหรือให้แยกกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 และ 29

มาตรา 133 เมื่อศาลมิได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ให้ศาลชี้ขาดคดีนั้นโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่สิ้นการพิจารณา แต่เพื่อการที่จะพิเคราะห์คดีต่อไป ศาลจะเลื่อนการพิพากษาหรือการทำคำสั่งต่อไปในวันหลังก็ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

มาตรา 134 ไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลที่รับฟ้องคดีไว้ ปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยอ้างว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดี หรือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นเคลือบคลุมหรือไม่บริบูรณ์

มาตรา 135 ในคดีที่เรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเงิน หรือมีการเรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเงินรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา จำเลยจะนำเงินมาวางศาลเต็มจำนวนที่เรียกร้อง หรือแต่บางส่วน หรือตามจำนวนเท่าที่ตนคิดว่าพอแก่จำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องก็ได้ ทั้งนี้ โดยยอมรับผิดหรือไม่ยอมรับผิดก็ได้

มาตรา 136 ในกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยยอมรับผิด ถ้าโจทก์พอใจยอมรับเงินที่จำเลยวางโดยไม่ติดใจเรียกร้องมากกว่านั้น และคดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปอีก ให้ศาลพิพากษาคดีไปตามนั้น คำพิพากษานั้นเป็นที่สุด แต่ถ้าโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินที่จำเลยวาง และยังติดใจที่จะดำเนินคดีเพื่อให้จำเลยต้องรับผิดในจำนวนเงินตามที่เรียกร้องต่อไปอีก จำเลยมีสิทธิถอนเงินที่วางไว้นั้นได้ โดยให้ถือเสมือนว่ามิได้มีการวางเงิน หรือจำเลยจะยอมให้โจทก์รับเงินนั้นไปก็ได้ ในกรณีหลังนี้ โจทก์จะรับเงินไปหรือไม่ก็ตาม จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่วาง แม้ว่าจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย ทั้งนี้ นับแต่วันที่จำเลยยอมให้โจทก์รับเงินไป

ในกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยไม่ยอมรับผิด จำเลยจะรับเงินนั้นคืนไปก่อนที่มีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดไม่ได้ การวางเงินเช่นว่านี้ ไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยหากจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย

มาตรา 137 ในคดีที่เรียกร้องให้ชำระหนี้อย่างอื่นนอกจากให้ชำระเงิน จำเลยชอบที่จะทำการชำระหนี้นั้นได้โดยแจ้งให้ศาลทราบในคำให้การหรือแถลงโดยหนังสือเป็นส่วนหนึ่งต่างหากก็ได้

ถ้าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้นั้นเป็นการพอใจเต็มตามที่เรียกร้องแล้ว ให้ศาลพิพากษาคดีไปตามนั้น และคำพิพากษานั้นให้เป็นที่สุด

ถ้าโจทก์ไม่พอใจในการชำระหนี้เช่นว่านั้น โจทก์ชอบที่จะดำเนินคดีนั้นต่อไปได้

มาตรา 138 ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่ง

กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับ

มาตรา 139 เมื่อคดีสองเรื่องหรือกว่านั้นขึ้นไปได้พิจารณารวมกันเพื่อสะดวกแก่การพิจารณา ศาลจะพิพากษาคดีเหล่านั้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเสร็จการพิจารณาแล้วจึงพิพากษาเรื่องอื่น ๆ ต่อไปภายหลังก็ได้