การเพิกถอนและการตกไปแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม มาตรา 1693 – 1699

By | 22 กันยายน 2019

หมวด 5 

การเพิกถอนและการตกไปแห่งพินัยกรรม 

หรือข้อกำหนดพินัยกรรม 

มาตรา 1693 ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้

มาตรา 1694 ถ้าจะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนเสียทั้งหมด หรือแต่บางส่วนด้วยพินัยกรรมฉบับหลัง การเพิกถอนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อพินัยกรรมฉบับหลังนั้นได้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้

มาตรา 1695 ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับแต่ฉบับเดียว ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ

ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับหลายฉบับ การเพิกถอนนั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้กระทำแก่ต้นฉบับเหล่านั้นทุกฉบับ

มาตรา 1696 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป

วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ

มาตรา 1697 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันนั้นเท่านั้น

มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

     (1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

     (2) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้

     (3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

     (4) เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมมิได้ได้มาซึ่งของแทน หรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายไป

มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี