อาศัย มาตรา 1402 – 1409

By | 22 กันยายน 2019

ลักษณะ 5 

อาศัย 

มาตรา 1402 บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยในโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า

มาตรา 1403 สิทธิอาศัยนั้น ท่านว่าจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้อาศัยก็ได้

ถ้าไม่มีกำหนดเวลา ท่านว่าสิทธินั้นจะเลิกเสียในเวลาใดๆ ก็ได้แต่ต้องบอกล่วงหน้าแก่ผู้อาศัยตามสมควร

ถ้าให้สิทธิอาศัยโดยมีกำหนดเวลา กำหนดนั้นท่านมิให้เกินสามสิบปีถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี การให้สิทธิอาศัยจะต่ออายุก็ได้ แต่ต้องกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบปีนับแต่วันทำต่อ

มาตรา 1404 สิทธิอาศัยนั้นจะโอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก

มาตรา 1405 สิทธิอาศัยนั้นถ้ามิได้จำกัดไว้ชัดแจ้งว่าให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อาศัยเฉพาะตัวไซร้ บุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของผู้อาศัยจะอยู่ด้วยก็ได้

มาตรา 1406 ถ้าผู้ให้อาศัยมิได้ห้ามไว้ชัดแจ้ง ผู้อาศัยจะเก็บเอาดอกผลธรรมดาหรือผลแห่งที่ดิน มาใช้เพียงที่จำเป็นแก่ความต้องการของครัวเรือนก็ได้

มาตรา 1407 ผู้ให้อาศัยไม่จำต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินให้อยู่ในความซ่อมแซมอันดี

ผู้อาศัยจะเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ออกไปในการทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นหาได้ไม่

มาตรา 1408 เมื่อสิทธิอาศัยสิ้นลง ผู้อาศัยต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้อาศัย

มาตรา 1409 ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดของผู้เช่าอันกล่าวไว้ในมาตรา 552 ถึง 555 มาตรา 558, 562 และ 563 มาใช้บังคับโดยอนุโลม