ลักษณะ 3
พินัยกรรม
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 1646 บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้
มาตรา 1647 การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม
มาตรา 1648 พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด 2 แห่งลักษณะนี้
มาตรา 1649 ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น
มาตรา 1650 ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดการทำศพนั้นให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253 (2) แห่งประมวลกฎหมายนี้
ถ้าการจัดการทำศพ ต้องชักช้าไปด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลผู้มีอำนาจตามความในมาตราก่อนกันเงินเป็นจำนวนอันสมควรจากสินทรัพย์แห่งกองมรดกเพื่อใช้ในการนี้ โดยให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องต่อศาลได้ในกรณีที่ไม่ตกลงหรือคัดค้านการกันเงินจำนวนนั้น
กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เงินค่าใช้จ่าย หรือเงินที่กันไว้อันเกี่ยวกับการจัดการทำศพนั้น ให้กันไว้ได้แต่เพียงจำนวนตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตาย แต่จะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสิทธิของเจ้าหนี้ของผู้ตาย
มาตรา 1651 ภายใต้บังคับบทบัญญัติลักษณะ 4
(1) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดก หรือตามเศษส่วน หรือตามส่วนที่เหลือแห่งทรัพย์มรดก ซึ่งมิได้แยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่าผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป และมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับทายาทโดยธรรม
(2) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ หรือแยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่าผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น
ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ
มาตรา 1652 บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้น จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครองหรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้จนกว่าผู้ปกครองจะได้ทำคำแถลงการณ์ปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1577 และมาตราต่อ ๆ ไป แห่งประมวลกฎหมายนี้เสร็จสิ้นแล้ว
มาตรา 1653 ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้
ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย
พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรมที่พยานนำมาแจ้งตามมาตรา 1663 ให้ถือว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามความหมายแห่งมาตรานี้
มาตรา 1654 ความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมนั้นให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น
ความสามารถของผู้รับพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น