สาปสูญ มาตรา 48-64

By | 12 กันยายน 2019

ส่วนที่ 4 สาปสูญ

มาตรา 48  ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้

เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดีหรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดีเมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอศาลจะตั้ง ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้

มาตรา 49  ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปหรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่บุคคลดังกล่าวให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 50  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นตามที่ศาลจะมีคำสั่งก็ได้

มาตรา 51  ภายใต้บังคับมาตรา 802 ถ้าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ที่ได้รับไว้ต้องขออนุญาตต่อศาลและเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้

มาตรา 52   ผู้จัดการทรัพย์สินที่ศาลได้ตั้งขึ้นต้องทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาลแต่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้ขยายเวลาก็ได

มาตรา 53   บัญชีทรัพย์สินตาม มาตรา 50 และ มาตรา 52 ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องอย่างน้อยสองคนพยานสองคนนั้นต้องเป็นคู่สมรสหรือญาติของผู้ไม่อยู่ซึ่งบรรลุ นิติภาวะแล้ว แต่ถ้าไม่มีคู่สมรสหรือหาญาติไม่ได้หรือคู่สมรสและญาติไม่ยอมเป็นพยานจะให้ผู้อื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นพยานก็ได้

มาตรา 54   ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 801 และ มาตรา 802 ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ต้องขออนุญาตต่อศาลและเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้

มาตรา 55   ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการอันใดไว้ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้แต่ถ้าปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียก็ได้

มาตรา 56   เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ให้ผู้จัดการทรัพย์สินหาประกันอันสมควรในการจัดการ ทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
(2) ให้ผู้จัดการทรัพย์สินแถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
(3) ถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สินและตั้งผู้อื่นให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนต่อไป

มาตรา 57   ในคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สินศาลจะกำหนดบำเหน็จ ให้แก่ผู้จัดการทรัพย์สินโดยจ่ายจากทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ถ้าศาลมิได้กำหนดผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จ ในภายหลังก็ได้

ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอหรือเมื่อมีกรณีปรากฏแก่ศาลว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับการ จัดการทรัพย์สินได้เปลี่ยนแปลงไปศาลจะสั่งกำหนดบำเหน็จ งด ลด เพิ่มหรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้จัดการทรัพย์สินอีกก็ได้

มาตรา 58   ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
(2) ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมาแต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนแล้ว
(3) ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
(4) ผู้จัดการทรัพย์สินลาออกหรือถึงแก่ความตาย
(5) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ ความสามารถ
(6) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
(7) ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน

มาตรา 59   ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตาม มาตรา 58(4)(5) หรือ (6) ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาท ของผู้จัดการทรัพย์สินผู้จัดการมรดก ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สินแล้วแต่กรณีจะต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สินต่อไปตามที่เห็นสมควร ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้นบุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่ พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง

มาตรา 60   ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่โดยอนุโลม

มาตรา 61   ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปีเมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลงถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปางถูกทำลายหรือสูญหายไป
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

มาตรา 62   บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 61

มาตรา 63   เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเองหรือมีผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่า บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดีหรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ใน มาตรา 62 ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นแต่การถอนคำสั่งนี้ ย่อมไม่กระทบ กระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริต ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น

บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 64   คำสั่งศาลให้เป็นคนสาบสูญ หรือคำสั่งถอนคำสั่งให้ เป็นคนสาบสูญให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา